วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558

[รีวิวอัลบั้ม] Compton A Soundtrack By Dr.Dre -Dr.Dre (2015)

ของฝากจากเมือง Compton






Dr.Dre แร็พเปอร์และโปรดิวซ์เซอร์มือทองกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มที่มีชื่อว่า Compton เป็นการกลับมาในรอบ 16 ปีทิ้งช่วงจากอัลบั้มที่ชื่อว่า 2001 เมื่อปี 1999 เวลาผ่านไปไวอะไรเยี่ยงนี้ 16 ปีผ่านไปเราได้ฟังผลงานชุดใหม่ของ Dr.Dre แล้วหรอเนี่ย ก่อนหน้านี้มีโปรเจ็ค Detox ซึ่งมีซิงเกิ้ลนำร่องอย่าง I Need A Doctor และ Kush มาเรียกน้ำย่อยแต่ตอนนี้โดนยกเลิกไปแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่พึงพอใจโปรเจ็คนี้ จนกระทั่งเดรได้ทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์หนังอัตชีวประวัติของวงตัวเองอย่าง Straight Outta Compton (กำลังฉายในอเมริกา ณ ตอนนี้) จึงเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาจนก่อให้เกิดโปรเจ็ค Compton ส่งท้ายอาชีพแร็พเปอร์ของเฮียเดร เพื่อไปทำงานเบื้องหลังแบบเต็มตัวต่อไป
Dr.Dre เป็นบุคคลที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของวงการฮิพฮอพเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นหนึ่งบุคคลสำคัญที่ทำให้แนวเพลงฮิพฮอพเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เริ่มตั้งแต่การเป็นสมาชิก N.W.A แก๊งสเตอร์ฮิพฮอพกรุ๊ปแรกของโลก อัลบั้ม The Chronic ต้นกำเนิดฮิพฮอพจังหวะ G-Funk อันเป็นเอกลักษณ์ Nutting But A G Thang เท่โคตรๆ หน้าปกก็คลาสสิคเป็นเทรนด์ฮิตของแร็พเปอร์มาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากที่ 2Pac เสียชีวิตไปอย่างน่าใจหาย ค่ายเพลงเก่า Death Rows Record ก็ตายไปจากวงการพร้อมๆกับ 2Pac ถึงจะวงการฮิพฮอพจะมีการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ แต่เฮียเดรก็ยังไม่ล้มเลิกที่จะสานต่อแนวเพลงฮิพฮอพไปตั้งค่ายเพลง Aftermath Entertainment ดันแร็พเปอร์หน้าใหม่จนแจ้งเกิดกันได้ถ้วนหน้า โดยเฉพาะการเป็นป๋าดันให้แร็พเปอร์ผิวขาว Eminem จนทำให้ดังผลุแตก เป็นที่ยอมรับในสายดนตรีของคนผิวสีได้สำเร็จ ตอกย้ำความสำเร็จให้กับตัวเองอีกครั้งด้วยอัลบั้ม 2001 ที่มีซิงเกิ้ล Still D.R.E , The Watcher , The Next Episode เป็นเพลงฮิตตลอดกาลที่ไม่มีแฟนเพลงฮิพฮอพคนไหนไม่รู้จัก ถึงแม้ว่าผลงานของดร.เดรออกไปทาง Compilation แร็พน้อย แต่แขกเยอะ แต่ตัวเพลงที่มีจังหวะเป็นเอกลักษณ์มากบวกกับโปรดักชั่นที่ดีเยี่ยม ผลงานสองอัลบั้มที่ผ่านมาของเฮียเดรเป็นอะไรที่คลาสิคยากเกินจะถูกลืมจริงๆ





หลังจากนั้นก็ไปทำงานเบื้องหลังมากกว่า เป็นป๋าดันให้ศิลปินอื่นๆนอกเหนือเอมิเนมไม่ว่าจะเป็น
50 Cent , The Game , Kendrick Lamar และอื่นๆอีกมากมากมาย นอกจากนี้ยังเป็นนักธุรกิจมหาเศรษฐีจากการขายหูฟัง Beats และขายหุ้นส่วนนึงให้กับ Apple ด้วย จนมีรายการวิทยุ Beats1 เป็นส่วนนึงของ Apple Music อีกด้วย เก่งด้านดนตรีแล้วยังเก่งเรื่องธุรกิจอีกโคตรนับถือเลยล่ะ สิ่งเหล่านี้ทำให้ Dr.Dre ยังมีบารมีในวงการเพลงจนถึงทุกวันนี้ ต่อให้ในยุคนี้มีแร็พเปอร์หน้าใหม่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ผลงานชุดสุดท้ายจึงเป็นอะไรที่น่าจับตามองจากแฟนเพลงทั่วโลกอยู่ดีครับ




ส่วนแขกรับเชิญในอัลบั้มชุดนี้เฮียเดรแกรวบรวมเพื่อนเก่าและศิลปินในสังกัดหน้าใหม่ๆมาร่วมงานกันเพียบ ล้วนแต่มาจากเมือง Compton แทบทั้งสิ้น มาตั้งแต่ฮิพฮอพยุคแรกๆ Ice Cube , Snoop Dogg , Xzibit , COLD 187um , Eminem , DJ Premier , The Game และศิลปินหน้าใหม่อีกมากมาย รวมถึงศิษย์โปรด Kendrick Lamar ได้แจมถึง 3 เพลงด้วยกัน  อย่างน้อย อัลบั้มชุดนี้ทำให้คนฟังได้เห็นแร็พเปอร์ยุคแรกๆกลับคืนสู่เหย้าอีกครั้งให้หายคิดถึง และได้เห็นศิลปินหน้าใหม่ๆที่ต่างปล่อยของออกมาแบบไม่กั๊กไปพร้อมๆกัน 



(ซ้าย: Justus กลาง : Dr.Dre ขวา: King Mez)


เริ่มอินโทรให้ความรู้เกี่ยวกับเมือง Compton ที่มีแต่คนผิวสีอาศัยอยู่ขึ้นชื่อเรื่องอาชญากรรม ให้อารมณ์เหมือนดูเพลงโลโก้ค่ายหนัง  Talk About It (Ft. King Mez & Justus) เพลงเปิดอัลบั้มสไตล์แก๊งส์เตอร์ชวนโยกหัวอีกเช่นเคย เป็นการเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย เป็นการบอกสถานะตัวเองจากคนที่อยู่ในย่านสลัม จนตอนนี้มาถึงจุดสูงสุดของอาชีพได้แล้ว เป็นการให้แรงบันดาลใจไปในตัวด้วย ตอนผมฟังท่อนฮุกผมนึกว่าคนดำร้อง ดูจากรูปข้าพเจ้ายังไม่เชื่อเลย 5555



Dr.Dre & Candice Pillay



ซ้าย Marsha Ambrosius

First Impression ที่โดนใจตั้งแต่แรกฟังหนีไม่พ้น แทร็คที่สาม Genocide ชอบตั้งแต่บีทขึ้นเพลงโคตรเท่ห์ vibe เพลงมันได้ แขกรับเชิญถึงผมไม่รู้จักมักคุ้นเลย แต่แย่งซีนได้อยู่หมัด ตั้งแต่ท่อนฮุกที่โคตรติดหู และประชดประชันสุดๆ 


Call 9-1-1, emergency
Hands up in the air for the world to see
It's murder, it's murder, murder, murder (Murder)
 

ท่อนแร็พเปอร์หญิง Candice Pillay โคตรแย่งซีนเลยล่ะ สำเนียงแอฟริกันนิดๆมีส่วนทำให้เพลงนี้เด่นขึ้นมาทันที โดยไม่ต้องอาศัยเดรหรือ Kendrick แต่อย่างใด มันเป็นเพลงที่มีจังหวะเท่ห์ก็จริง แต่แอบแฝงความน่ากลัว มันไม่ใช่เพลงที่ฟังเอาเท่ห์เลยล่ะ 

Anderson Paak


2 เพลงต่อมาดูเหมือนจะป็อบแร็พมากที่สุดในชุดนี้เลยล่ะ
It's All On Me (Ft. Justus & BJ The Chicago Kid) ดูเหมือนจะติดหูสุด ส่วน All In A Day's Work (Ft. Anderson Paak) ฟังได้เรื่อยๆครับผม


Darkside/Gone (Ft. King Mez, Marsha Ambrosius & Kendrick Lamar) เป็นแทร็คที่น่าสนใจ ตัวเพลงแบ่งออกเป็นสองพาร์ท พาร์ทแรก จะออกไปในทาง Trap Rap King Mez เล่าถึงการใช้ชีวิตแบบแก๊งค์อันธพาลในอดีต ตอนหลังค้นพบว่าชีวิตแบบนี้มันไม่ใช่ตัวเองเลย ส่วนพาร์ทสองเดรก็เสียดสีชีวิตที่เคยหลงระเริงชื่อเสียงในอดีต จนถึงขั้นทะเลาะกับเพื่อนรักร่วมวง Easy-E (จะเห็นได้ว่าเดรเคยเปิดศึกกับ Easy-E ตั้งแต่แยกวง N.W.A มาทำ The Chronic จนกลายเป็นคู่ Beef แห่งประวัติศาสตร์ฮิพฮอพ) จนกระทั่ง Easy-E ตายด้วยโรคเอดส์ แต่ก็สายเกินไปแล้วที่จะเอาเพื่อนเก่าเขากลับมา เป็นพาร์ทที่ฟังแล้วสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย เปียโนหลอนๆ ส่วน Kendrick ก็แร็พถึงชีวิตที่ต้องรับมือกับชื่อเสียงของตัวเองเหมือนกันครับ เพื่อไม่ให้ตัวเองใช้ชื่อเสียงไปในทางที่ผิดนั่นเอง ท่อนนี้ทำให้ผมนึกถึงเพลงในอัลบั้ม To Pimp A Butterfly อยู่เหมือนกัน 




Loose Cannons (Ft. Xzibit & COLD 187um) ดิบ เถื่อน และโรคจิตโคตรๆ มันทำให้ผมนึกถึงเพลงสไตล์เอมิเน็มในอัลบั้มชุดแรกๆเลย Xzibit แร็พแบบกระแทกๆ COLD 187um แม่งเรื้อนได้ใจ คนโลกสวยที่ฟังเพลงนี้อาจรับไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงท้ายเพลง มี Skit เล็กน้อยๆที่เกี่ยวกับการฆาตกรรมด้วย 5555




Issues (Ft. Ice Cube & Anderson Paak) รีฟกีตาร์เปิดเพลงเจ๋งได้ใจ Ice Cube แร็พได้น่าเกรงขามเช่นเคย เนื้อเพลงสะท้อนความรุนแรงในเมือง Compton อย่างเห็นได้ชัด เมืองนี้แม่งเถื่อน มึงต้องมีพรรคพวก อยู่คนเดียวมึงไม่น่ารอดว่ะพวก 

ต่อด้วย Deep Water (Ft. Kendrick Lamar & Justus) ซาวน์ดมาแบบดาร์กๆเงียบๆ มีเสียงคนจมน้ำเป็นซาวน์ดประกอบ ฟังดูโหดร้าย แต่เพลงนี้ตั้งใจจะสื่อถึงเกมแร็พที่มีความลึกล้ำซับซ้อนขึ้นทุกวันเหมือนกับมหาสมุทรอันดำมืดที่พร้อมกลืนกินคนที่ด้อยกว่าในวงการแร็พ คนที่เหนือกว่าจะอยู่พ้นมหาสมุทรได้  ท่อนของเคนดริก ถ้าเทียบกับเพลงแจมอื่นๆ ท่อนนี้โดดเด่นสุดครับ ฮาร์ดคอใช้ได้ 

Jon Connor


One Shot One Kill (Jon Connor Ft. Snoop Dogg) ปล่อยให้แร็พเปอร์หน้าใหม่ Jon Connor มารับช่วงต่อบ้าง คราวนี้ได้แจมกับป๋าสนู๊ปด้วย ป๋าสนูปแกฮาร์ดคอด้วยนะเออ ป๋าแกไม่ยอมจริงๆ เบรคฮาร์ดคอด้วย Just Another Day (The Game Ft. Asia Bryant) ฟังสบายๆ The Game เปิดฉากแร็พคนเดียวเต็มเพลง แต่น่าเสียดายที่สั้นไปหน่อย เลยไม่ได้เห็น The Game โชว์แร็พเต็มที่

For The Love Of Money (Ft. Jill Scott & Jon Connor) บัลลาดโทนจริงจัง
Satisfiction (Ft. Snoop Dogg, Marsha Ambrosius & King Mez) จิกกัดวงการเพลงที่ชีวิตจริงของศิลปินดูไม่สวยหรูเหมือน MV เพลง ใน MV คุณดูเป็นคนรวย แต่ชีวิตจริงกลับไม่ใช่อย่างนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆเรื่องของ 50 Cent ไงล่ะ จังหวะติดหูดีครับ เท่ห์ๆ Animals (Ft. Anderson Paak) เพลงนี้ข้าพเจ้าโคตรชอบ บีทเพลงเจ๋งมากๆ ได้อารมณ์ Old School Hip hop กลับมา ได้ DJ Premier มาโปรดิวซ์ให้ด้วย เจ๋งโลด แทร็คนี้ห้ามข้าม 


Medicine Man (Ft. Eminem, Candice Pillay & Anderson Paak) อีกหนึ่งที่ใครหลายคนต่างรอคอย เพราะได้ Eminem มาร่วมแจมด้วย ตัวเพลงมาแบบเรียบๆแฝงความไม่ชอบมาพากล ท่อน Em โคตรพีค เนื้อหาเล่าถึงเส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างเฮียเดรกับเอมิเน็มที่เป็นคู่หูแห่งวงการฮิพฮอพมาจนถึงทุกวันนี้ ผิดหวังนิดนึงสำหรับเพลงนี้ ตอนแรกก็คาดหวังว่าจะเป็นเพลงสนุกส่งท้าย แต่ที่ไหนได้มาแบบเรียบๆแปลกๆ ถ้าไม่มีเอ็มมาฟีท เพลงนี้จืดสนิทเลยบ่องตง 

ปิดท้ายด้วยเพลงสั่งลาที่งดงามและน่าจดจำ Talking to My Diary พรรณนาถึงอดีตที่ผ่านมาของตัวเองที่ผ่านอะไรมาเยอะแยะมากมาย เป็นเพลงที่ซึ้งอยู่ไม่น้อย  ส่งสานส์ให้เพื่อนผู้ล่วงลับ Easy-E คิดถึงเพื่อนร่วมวง N.W.A รวมไปถึงขอบคุณคนรอบข้างที่ทำให้เขาไปสู่จุดสูงสุดของอาชีพได้ ถือเป็นเพลงปิดท้ายที่สมศักดิ์ศรีแร็พเปอร์ในตำนานจริงๆ ฟังแล้วรู้สึกภูมิใจในความสำเร็จของเฮียแกจริงๆ


การกลับมาครั้งนี้ของเฮียเดรอาจผิดคาดไปหน่อยสำหรับแฟนเพลงเดนตายบางคน ในชุดนี้ฟิลเก่าๆ หายไปเยอะ ใครที่คาดหวังอยากเห็นซาวน์ด G-Funk จากเดรอาจผิดหวังอยู่บ้าง เพราะชุดนี้ใช้ซาวน์ดสมัยใหม่ๆเพียบ ไม่เว้นแม้แต่การเอา auto-tune มาเป็นส่วนผสมของเพลง ปกติเฮียเดรจะออกแนวอนุรักษ์นิยม ไม่น่าเชื่อว่าเฮียแกใช้ซาวน์ดสมัยใหม่แบบนี้ด้วย ภาคการแร็พด้วยอายุขึ้นเลขห้าแล้ว สังขารดูไม่น่าจะฮาร์ดคอได้เต็มที่ มีคนอื่นช่วยแร็พ ทำเอ็ฟเฟคเสียงประกอบบ้าง ช่างแม่งเหอะ เพราะโดยรวมในชุดนี้ ยังคงรักษาคุณภาพของตัวเพลงได้เป็นอย่างดี ทุกเพลงตั้งแต่แทร็คแรกจนถึงแทร็คสุดท้าย มีเทคนิคในการเรียบเรียงดนตรีที่แพรวพราวอยู่ไม่น้อย การใช้แขกรับเชิญได้อย่างมีประสิทธิภาพ หยิบจุดดีของแขกรับเชิญแต่ละคนมาปรับใช้ในเพลงได้เป็นอย่างดี มันทำให้แต่ละเพลงดูมีความหลากหลาย สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้ผมไม่รู้สึกเบื่อเลยตลอดการฟังอัลบั้มชุดนี้  ไม่ผิดหวังในแง่คุณภาพแน่นอนครับ 

ในชุดนี้ผมสังเกตได้ว่า เฮียเดรต้องการโฟกัสไปที่ศิลปินหน้าใหม่บ้าง ไม่ได้โฟกัสที่ศิลปินเก่าเพียงอย่างเดียว ตัวเพลงเลยใหม่ตาม เป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่า ดร.เดรไม่ต้องการย่ำอยู่กับที่ ซ้ำรอยความสำเร็จแบบเดิมๆอีกต่อไป ผมชอบนะที่ศิลปินรุ่นเดอะเปิดทางให้กับศิลปินหน้าใหม่ได้แจ้งเกิดบ้าง ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี  อีกอย่างมันเป็นการขยายฐานแฟนเพลงคนรุ่นใหม่ให้คนมาสนใจแนวเพลงฮิพฮอพจากอัลบั้มชุดนี้มากขึ้น 


มรดกตกทอดจากดร.เดรที่ตั้งใจจะมอบให้กับแฟนเพลงทั่วโลกอย่างแท้จริงครับ


Top Track : Genocide , Darkside/Gone (Ft. King Mez, Marsha Ambrosius & Kendrick Lamar) , Animals (Ft. Anderson Paak) , Talking to My Diary , Deep Water (Ft. Kendrick Lamar & Justus) , It's All On Me (Ft. Justus & BJ The Chicago Kid)


Give  8.5/10




FB : https://www.facebook.com/fungpaifungma



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น